ข่าวประชาธิปัตย์// 5 พ.ย.67
“ประชาธิปัตย์” เสวนา “ทางรอดกรุงเทพ วิกฤติน้ำท่วม”
“เดชอิศม์” เตือน คนไทยถึงเวลาทวงคืนเอกราชสิ่งแวดล้อม! “ดร.เอ้” เดือด! ชี้ กทม. จมน้ำไม่ใช่เรื่องเพ้อเจ้อ”
“อลงกรณ์” เตือน รอบนี้เป็นแค่ อีพี 1 ถ้าไม่เริ่มวันนี้ก็ไม่รอด
5 พฤศจิกายน 2567 เวลา 09.00 น. ที่สำนักงานใหญ่พรรคประชาธิปัตย์ ได้มีการจัดงานเสวนา เดโมแครต ฟอรั่ม ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ “ “ทางรอดกรุงเทพ : วิกฤติน้ำท่วม“ ขึ้นที่ห้องประชุมชั้น 3 อาคาร ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช พรรคประชาธิปัตย์ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรค ได้เล็งเห็นว่าน้ำท่วมเป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในทุกปี และอาจส่งผลกระทบต่อกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย ที่มีความเสี่ยงต่อการจมน้ำ เพราะเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ และต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมจาก 3 ปัจจัย คือ 1.น้ำเหนือ 2.ปริมาณน้ำฝนที่ตกหนักกว่าปกติ 3. ระดับน้ำทะเลที่หนุนสูงขึ้นทุกปี จึงได้มีการเชิญวิทยากรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ มาร่วมกันเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อแนวทางการป้องกันกรุงเทพฯ ไม่ให้ต้องจมน้ำอย่างถาวรในอนาคต ประกอบด้วย นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์ ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรค รศ. ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นายชวลิต จันทรรัตน์ นายกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย ดำเนินการเสวนาโดย ผศ. ดร.เจนจิรา รัตนเพียร โฆษกพรรค
ทั้งนี้ นายเดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเปิดเสวนาเดโมแครต ฟอรั่ม (Democrat Forum) ครั้งที่ 2 “ทางรอดกรุงเทพ วิกฤติน้ำท่วม” ว่า เป็นไปตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรค ที่ต้องการให้มีเวทีวิชาการ เพื่อให้ สส. และ สมาชิกพรรค ได้นำข้อมูล ประสบการณ์ ข้อเสนอแนะ มาถ่ายทอด แลกเปลี่ยน ร่วมกับนักวิชาการ หรือ ผู้เชี่ยวชาญ ในประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และนำไปเผยแพร่ความรู้สาระประโยชน์ที่ได้จากการเสวนาสู่สาธารณะ เพื่อให้เกิดการรับรู้ และ เปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีขึ้น
เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวด้วยว่า ปัจจัยเหล่านี้ถึงแม้จะเกิดจากธรรมชาติ แต่ก็เป็นเพราะฝีมือมนุษย์ที่ทำลายธรรมชาติจนสภาวะโลกเดือด สร้างความเสียหายไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย แต่ยังกระทบไปทั่วโลก ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรงนี้ ทำให้กรุงเทพมหานครอยู่ในความเสี่ยงทั้งจากปริมาณน้ำมาก และ ความเสี่ยงจะจมน้ำเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งจะสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ทั้งด้านเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะเรื่องสุขพลานามัย ทุกครั้งที่เกิดน้ำท่วมก็มักจะเกิดการแพร่ระบาดของโรคต่าง ๆ ตามมาด้วยเสมอ การป้องกันภัยพิบัติน้ำท่วมจึงเป็นเรื่องการช่วยเหลือประชาชนในด้านสุขอนามัยอีกทางหนึ่งด้วย
“สภาพสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยและของโลกเปลี่ยนไปมาก วันนี้ประเทศไทยได้เสียเอกราชทางสิ่งแวดล้อมไปแล้ว ถึงเวลาแล้วที่คนไทยทั้งประเทศต้องลุกขึ้นมาทวงคืนเอกราชทางสิ่งแวดล้อม วันนี้คนไทยตายด้วยโรคมะเร็ง 1 วัน ไม่น้อยกว่า 200 คน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ผมมองว่าจะให้กระทรวงสาธารณสุขมารับผิดชอบแค่เพียงปลายทางอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ เราต้องใช้งบซักกี่แสนล้านก็ไม่เพียงพอ แต่เราจะต้องหันมาพูดกันทุกกระทรวงที่เกี่ยวกับสุขภาพของประชาชน อย่างกระทรวงอุตสาหกรรม วันนี้โรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทยถ่ายเทสารพิษลงสู่แม่น้ำลำคลองมากมาย แต่โทษปรับก็ยังเป็นจำนวนเงินที่น้อย แลกกับระบบนิเวศที่ถูกทำลายอย่างมหาศาล ส่งผลกระทบต่อชีวิตความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนประเมินค่าไม่ได้ ดังนั้นต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นอยู่ของประชาชนหรือธรรมชาติที่ถูกทำลายไป กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ก็มีดำริว่าจำเป็นต้องเอาป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์กลับมาให้เร็วที่สุด ส่วนกระทรวงมหาดไทย ที่มีประปาหมู่บ้านเกือบทุกหมู่บ้าน แต่ไม่ได้ตั้งงบประมาณเพื่อตรวจสอบคุณภาพน้ำในแต่ละปี ทำให้มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นในเวทีนี้ผมถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการทวงคืนเอกราชทางสิ่งแวดล้อมให้กับพี่น้องชาวไทยทุกคน” เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว
ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์ ได้วางวิสัยทัศน์เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศไว้ด้วยกัน 3 ชั้น คือในระดับประเทศ ซึ่งพรรคฯ ได้มีโอกาสเข้าไปดูแล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงสาธารณสุข ระดับเมืองหลวง กรุงเทพมหานคร และจะนำไปสู่ตัวอย่างของเมืองในภูมิภาค โดยสิ่งที่ท้าทายที่สุดของประเทศวันนี้ได้กระทบไปทั่วทุกภาค จึงจำเป็นจะต้องสร้างบทเรียน และวิสัยทัศน์ เพื่อนับหนึ่งประเทศไทย นับหนึ่งกรุงเทพมหานคร
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรค ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน ได้วาดหวังบอกว่าการจัดเดโมแครต ฟอรั่ม จะต้องมองภาพใหญ่ให้เห็น อยากเห็นกรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าเที่ยว เป็นเมืองในฝัน ปัญหาต่างๆ จะต้องซ่อม และต้องสร้าง นี่เป็นเพียง อีพี 1 ทางรอดกรุงเทพฯ วิกฤติน้ำท่วม แต่ยังมีปัญหาขยะหมื่นตันต่อวัน ที่วันนี้ต้องใช้เงินนับหมื่นล้านเพื่อจัดการ ยังมีปัญหา PM 2.5 อากาศเสีย น้ำเสีย การจราจรติดขัด ปัญหาชุมชน โอกาสของความเป็นจริงได้เริ่มต้นแล้ว ถ้าเราไม่เริ่มวันนี้ก็ไม่มีทาง เพราะปัญหาเหล่านี้ไม่ได้แก้ไขได้ในวันเดียว และต้องทำงานร่วมกันทั้งหมดแบบไร้รอยต่อ การเมืองยุคใหม่ต้องไม่มีฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ใครทำงานได้ดีก็จะได้รับศรัทธาจากประชาชน” นายอลงกรณ์ กล่าว
สำหรับ ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรค กล่าวว่า ที่ผ่านมาตนรู้สึกเสียใจและผิดหวัง ที่ยังมีคนเห็นว่าเรื่องกรุงเทพฯ จมน้ำเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ แม้จะเกิดเหตุมหาอุทกภัยที่แม่สาย จ.เชียงราย และที่เชียงใหม่ ซึ่งไม่คาดคิดว่าน้ำจะท่วมรุนแรงขนาดนั้น แต่กรุงเทพฯ ก็ยังเหมือนไม่ตระหนักพอว่าจะเกิดอะไรขึ้น ขณะที่มีน้ำเอ่อล้นจากท่าเตียนท่วมไปจนถึงวัดพระแก้วแล้วก็ตาม
“ถึงเราจะย้ายเมืองหลวงได้ แต่เราก็ทิ้งกรุงเทพฯ ไม่ได้ ตอนนี้เราไม่ต้องสงสัยแล้วว่ากรุงเทพฯจะจมน้ำหรือไม่ แต่การป้องกันต้องใช้เวลาหลายสิบปี ผมมีโอกาสได้เจอกับผู้ว่าการกรุงโตเกียว ที่ต้องเจอพายุปีละ 7-12 ลูก เธอตอบว่า Engineering หรือการใช้ระบบวิศวกรรม มีการสร้างระบบแก้มลิงใต้กรุงโตเกียว สามารถเก็บน้ำส่วนเกินพักไว้ก่อนที่จะระบายทิ้งที่หลังได้ ดังนั้นการป้องกันวิกฤตน้ำท่วมกรุงเทพฯ ไม่ใช่เรื่องของพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของทุกพรรคที่ต้องใช้พลังทางการเมืองผลักดันนโยบายและเป็นผู้นำในการแก้ปัญหา” ศ. ดร.สุชัชวีร์ กล่าว
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กล่าวช่วงหนึ่งว่า สถานการณ์น้ำฝนกับความสามารถในการรับน้ำของ กทม. หากฝนตก 50 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ใน 100 ปี กทม.จะถูกน้ำท่วมเป็นพื้นที่กว้าง และมีปริมาณน้ำสูง 50 เซนติเมตร ถึง 2 เมตร หากไม่มีการวางแผนถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก อีกทั้งน้ำเหนือจากลุ่มเจ้าพระยาตอนบนและตอนล่างมีแนวโน้มที่จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนสถานการณ์น้ำทะเลหนุน มีการคาดการณ์ว่าเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี พ.ศ. 2554 ถือเป็นสถานการณ์น้ำท่วมหนักในรอบ 50 ปี จากการใช้ข้อมูลในอดีตมาประเมิน แต่ในอนาคตข้างหน้าเหตุการณ์น้ำท่วมเหมือนเช่นปี 54 จะเกิดน้ำท่วมขึ้นในรอบ 10 ปีเท่านั้น ดังนั้น กทม.จึงเดินเข้าใกล้สถานการณ์น้ำท่วมเต็มพื้นที่เร็วๆนี้ อีก 6 ปีข้างหน้า คือ 2030 พื้นที่น้ำท่วมในกทม.จะขยายกว่าขึ้น ในปี 2050 จะมีระดับน้ำทะเลที่หนุนสูงและมีน้ำเหนือที่มีปริมาณมากขึ้น จะทำให้กรุงเทพมหานครจะมีลักษณะกลายเป็นแซนด์วิช และปี 2070 ก็กินพื้นที่เพิ่มขึ้น และในปี 2100 พื้นที่กรุงเทพมหานครก็จะถูกน้ำท่วมเกือบทั้งหมด
สำหรับ นายชวลิต จันทรรัตน์ นายกสมาคมวิศวกร ที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย ได้นำเสนอแผนภูมิปริมาณน้ำฝนของประเทศไทย ที่ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าจากสภาวะโลกเดือนทำให้ตั้งแต่ปลายปี 66 ถึงปัจจุบัน มีฝนตกหนักทั่วทุกภาค ส่งผลให้มีปริมาณน้ำฝนสูงระดับ 300 กว่า มม. ขึ้นไปทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายจังหวัด พร้อมกับเสนอให้ กทม. มีความจำเป็นต้องมีมาตรการรับมือกับ 1. น้ำฝน มีระบบการพยากรณ์ล่วงหน้า และให้ความสำคัญกับการสื่อสารในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อเตือนให้พี่น้องประชาชนเตรียมรับมือให้ทันท่วงที มีระบบพร่องน้ำล่วงหน้า การมีแก้มลิงเพื่อเก็บน้ำหน่วงน้ำ ตลอดจนสร้างระบบระบายน้ำโดยการไหลตามแรงโน้มถ่วง โดยจำเป็นต้องมีมาตรการการระบายน้ำข้ามเขตการปกครอง ซึ่งจะต้องมีการสร้างความร่วมมือหรือทำข้อตกลง ซึ่งจะเป็นการวางหลักการระบายน้ำไว้ล่วงหน้า ไปจนถึงการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน 2. น้ำเหนือ มีมาตรการควบคุมน้ำ สร้างคันปิดล้อม สร้างทางเบี่ยงน้ำ ไปจนถึงการระบายน้ำผ่านบางพื้นที่ 3. น้ำทะเลหนุน ต้องมีมาตรการสร้างคันกั้นน้ำริมตลิ่ง ติดตั้งบานปิดปากปลายท่อระบายน้ำ สำหรับป้องกันการไหลย้อนกลับในระบบระบายน้ำอีกด้วย
หลังการเสวนา ได้มีการเปิดให้ผู้เข้าร่วมฟัง ทั้งคนไทยและต่างชาติได้แสดงความคิดเห็นในเวทีเสวนาอย่างกว้างขวาง อาทิ ดร.ปองพล อดิเรกสาร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ และเป็นนักการเมืองที่เคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ได้เสนอความคิดให้สร้างแท็งค์ฟาร์มเพื่อที่จะเก็บน้ำจากแม่น้ำทุกสายหลักของประเทศ พร้อมให้แนวคิดขายน้ำจืดให้กับซาอุดีอาระเบีย เป็นต้น
โฆษณา